คอกิ่ง ๒

Scindapsus hederaceus Miq.

ชื่ออื่น ๆ
ย่านงด (นครศรีธรรมราช)
ไม้เถาล้มลุกหลายปี ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนานหรือรูปใบหอกแกมรูปรี ค่อนข้างเบี้ยว ก้านใบแผ่เป็นครีบเกือบถึงปลายก้าน ดอกสมบูรณ์เพศ ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ออกที่ยอดกาบหุ้มช่อดอกสีเขียวอมเหลืองอ่อนหรือสีเหลืองอ่อนรูปกระสวยหรือรูปเรือ ค่อนข้างแคบ ดอกสีเขียวหรือสีเขียวอมเหลือง ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีหรือรูปค่อนข้างกลม สุกสีแดง เมล็ดมี ๑ เมล็ด รูปคล้ายไต แบน

คอกิ่วชนิดนี้เป็นไม้เถาล้มลุกหลายปี เลื้อยเกาะ ตามต้นไม้หรือตามหิน ยาวได้ถึง ๒๐ ม. ลำต้นเรียวยาวเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. สีเขียว

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนานหรือรูปใบหอกแกมรูปรี ค่อนข้างเบี้ยว กว้าง ๓-๘.๕ ซม. ยาว ๑๐-๒๑ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือมนขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีเขียวอ่อนเส้นกลางใบนูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบจำนวนมากเรียงค่อนข้างถี่ เห็นไม่ชัดทางด้านบน ก้านใบยาว ๕-๑๐ ซม. แผ่เป็นครีบเกือบถึงปลายก้าน โคนเป็นกาบหุ้มลำต้น

 ดอกสมบูรณ์เพศ ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบออกที่ยอดเป็นช่อเดี่ยว กาบหุ้มช่อดอกสีเขียวอมเหลือง อ่อนหรือสีเหลืองอ่อน รูปกระสวยหรือรูปเรือ ค่อนข้างแคบ ยาว ๔.๕-๘ ซม. ปลายเรียวแหลม ก้านช่อดอก ยาว ๓-๖ ซม. ส่วนที่เป็นช่อเชิงลดรูปทรงกระบอก ยาว ๓-๗ ซม. ปลายมน มีดอกจำนวนมากเรียงชิดกันรอบแกนช่อ สีเขียวหรือสีเขียวอมเหลือง ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก เกสรเพศผู้ ๔ เกสร เกสรเพศเมียด้านบนเห็นเป็นรูปหกเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยม รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปหกเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยม มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ยอดเกสรเพศเมียปลายตัด

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีหรือรูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๖ มม. สุกสีแดง เมล็ดรูปคล้ายไต แบน มี ๑ เมล็ด

 คอกิ่วชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ พบตามป่าดิบ ป่าพรุ หรือภูเขาหินปูน ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับนํ้าทะเลถึงประมาณ ๙๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีนและมาเลเซีย

 ประโยชน์ ในมาเลเซียนำลำต้นมาเคี่ยว ใช้เป็นยานวดแก้โรคข้ออักเสบ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คอกิ่ง ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Scindapsus hederaceus Miq.
ชื่อสกุล
Scindapsus
คำระบุชนิด
hederaceus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1811-1871)
ชื่ออื่น ๆ
ย่านงด (นครศรีธรรมราช)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย